วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เปิด 10 เทรนด์อาหาร 2009 ยุคเศรษฐกิจถดถอย สุขภาพ-ขนาดเล็กลงมาแรง


ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่อจำนวนเงินในกระเป๋าเข้าอย่างจัง อาหาร แม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์กลับต้องอยู่ในภาวะจำเป็นต้องเลือกด้วยเช่นกัน

ความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ จึงพุ่งเป้าไปที่อาหารที่พวกเขามองว่าจำเป็น และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเท่านั้น ถึงจะสามารถสร้างและรักษายอดขายไม่ให้ตกกว่าเดิมได้

“ระยะซบเซาของธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการชะลอทางธุรกิจได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์หลัก และแฟชั่นอาหาร”

“ในช่วงที่ยากลำบาก ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียวที่ผู้บริโภคสนใจในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม คือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากอาหาร และที่สำคัญพวกเขาต้อง ‘รู้สึก’ ถึงประโยชน์จากอาหารได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่ได้จ่ายไป” จูเลียน เมลเลนทิน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเทรนด์อาหาร ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มของ “10 เทรนด์อาหารและสุขภาพในปี 2009”

บทความเรื่อง “10 เทรนด์อาหารและสุขภาพในปี 2009” ที่บันทึกโดยจูเลียน เมลเลนทิน เป็นรายงานประจำปีที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะได้รวบรวมเทรนด์อาหารเพื่อใช้ในการคิดค้นกลยุทธ์ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม โดยพุ่งเป้าไปที่เทรนด์ระยะยาวเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ความนิยมที่มีในระยะสั้น

ปีที่ผ่านมา จูเลียนได้วิเคราะห์ว่าอาหารสุขภาพจะเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการสูงสุดทั่วโลก และ “Premiumization” จะกลายเป็นมาตรฐานของอาหารสุขภาพที่สามารถอัพราคาจากอาหารปกติได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มแม้แต่น้อย

แต่ท่ามกลางภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน แค่ความเป็นพรีเมียมเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้อีกต่อไป แต่ต้องในแง่ “Feel the benefit” ด้วย

Premium + Benefit = Value-for-money

ความสำคัญของ “Feel the benefit” ถูกเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จากแบรนด์อาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายในช่วงเวลาที่เหมาะสม และดูเหมือนว่าความสำคัญของจุดนี้เพิ่มมากเรื่อยๆ เมื่อผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าเดิม

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของ “Feel the benefit” ได้อย่างชัดเจน คือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy drinks) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการช่วยย่อยอาหาร (Digestive Health) และนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ทั้งสองกลายเป็นเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกในปัจจุบัน

ตลาดเครื่องดื่มพลังงานในสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังคงเติบโตปีละ 10% ขณะเดียวกัน แบรนด์ฟังก์ชันนอล ฟู้ด 10 อันดับแรกในญี่ปุ่นก็เป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน และอาหารที่ช่วยระบบย่อยอาหารด้วยเช่นกัน โดยมี Otsuka’s Oronamin C เป็นฟังก์ชันนอลแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

เครื่องดื่มให้พลังงานให้ประโยชน์ที่เห็นผลได้ในทันทีเพียงแค่ช็อตเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20 ที่ต้องการปาร์ตี้ตลอดทั้งคืน ซึ่งพวกเขาเป็น Loyal Customers ของ Red Bull

สินค้าที่ช่วยระบบย่อยอาหารก็มีข้อได้เปรียบเช่นเดียวกับเครื่องดื่มให้พลังงาน ด้วย Probiotic (เชื้อจุลินทรีย์ที่มีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหารในลำไส้เล็ก) และ Fiber ทำให้คนที่ได้ลองทานไปรู้สึกถึงประสิทธิภาพได้อย่างทันที จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์อย่างเช่น Activia หรือ Actimel ประสบความสำเร็จทั่วโลก

ในทางกลับกัน สินค้าที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นถึงผลที่ได้จากผลิตภัณฑ์อาจต้องประสบกับความลำบากได้ เมลเลนทินได้ยกตัวอย่างเช่น นมที่เติมส่วนผสมของ Omega-3

“ในออสเตรเลีย ยอดขายของนมที่เติมส่วนผสม Omega-3 ตกลงอย่างมาก ในบางกรณีตกลงกว่า 33% ในหนึ่งปี Omega-3 เป็นสารอาหารที่สำคัญ เพียงแต่ว่าไม่สามารถให้ประโยชน์ที่คุณสามารถเห็น หรือรู้สึกได้”

จัดระเบียบเมนูอาหารใหม่

สำหรับธุรกิจร้านอาหารไม่ว่าจะเป็น Quick Service Restaurants หรือ Fine Dining ล้วนแต่ต้องจัดระเบียบเมนูอาหารใหม่เพื่อรองรับพฤติกรรมรัดเข็มขัดของผู้บริโภคในปี 2009 ทั้งสิ้น

งบประมาณที่ลดลง ก็เท่ากับเส้นรอบเอวที่เล็กลง ปี 2009 จึงกลายเป็นปีแห่งการ “ตัด” และ “หั่น” งบการทานอาหารนอกบ้าน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ต้องการฟื้นฟูสุขภาพเพื่อให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต

การจัดระเบียบเมนูอาหารใหม่ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

Shareable Menu ที่นำเสนออาหารหลากหลายประเภทในรูปแบบขนาดพอดีคำ ที่มาพร้อมไวน์ที่เสิร์ฟเพียงแค่ครึ่งแก้ว กำลังเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยประหยัดงบในกระเป๋าสตางค์ และไม่ทำลายช่วงเวลาไดเอ็ตอีกด้วย

Seasonal menu เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่จะช่วยดึงให้ผู้บริโภคออกมาทานอาหารนอกบ้านได้ และที่สำคัญยังช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้

ต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมองเป็นโอกาสนำมาจับคู่กับความต้องการสินค้าสดใหม่ของผู้บริโภค ผลิตออกมาเป็นเมนูเฉพาะเทศกาลที่ใช้วัตถุดิบที่มีในช่วงนั้นเป็นส่วนผสมหลักก็จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้ไม่ยาก ซึ่งในบางครั้งการมีเมนูอาหารเดิมๆ ยาวนานเป็นเดือน หรือปี โดยที่ไม่มีอะไรใหม่ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องอีกต่อไป

Farm-To-Table Cuisine หนึ่งเทรนด์ฮิตในปี 2009 สำหรับร้านอาหาร เพราะผู้บริโภคปัจจุบันมักมีความสงสัยและอยากรู้ว่า อาหารที่พวกเขาบริโภคมาจากไหน อาหารถูกเตรียมอย่างไร และใครเป็นผู้เตรียมอาหารนั้น ซึ่งหากร้านใดนำเสนอเมนู Farm to table ได้มาก ก็อาจเป็นตัวเลือกร้านอาหารอันดับแรกๆ ของผู้บริโภค

และที่สำคัญ การทานอาหารในปัจจุบันของคนส่วนใหญ่ไม่ได้แบ่งตามช่วงเวลาอีกต่อไป ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งกับที่ และมีตารางเวลาที่ไม่อาจคาดเดาได้ การนำเสนออาหารชุดตามช่วงเวลา อย่างเช่น ชุดอาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็น จึงไม่ใช่คำตอบของผู้บริโภคอีกต่อไป

การนำเสนอชุดอาหารในช่วงเวลาที่ยืดหยุ่น และเปิดให้ดึกขึ้นกว่าเดิม จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเดินเข้าร้านอาหาร

10 เทรนด์ธุรกิจอาหารในปี 2009

1. Digestive Health เทรนด์แห่งโอกาสในการทำตลาด
2. Feel the benefit สิ่งที่คอนซูเมอร์ต้องการมากที่สุด
3. Weight Management ควบคุมอาหารสำคัญกว่าลดน้ำหนัก อาหารที่จะทำให้คุณทานน้อยลง
4. Energy ตลาดใหม่ที่ยังไปได้อีกไกลในอนาคต
5. Naturally Healthy อีกจุดขายสำคัญของอาหาร
6. Fruit อนาคตของอาหารเพื่อสุขภาพ
7. Kids Nutrition สารอาหารสำหรับเด็ก
8. Healthy Snack ของทานเล่นเพื่อคนรักสุขภาพ
9. Ultra loyal consumer กลุ่มลูกค้าที่ช่วยให้แบรนด์ผ่านพ้นช่วงซบเซาได้
10. Packaging Innovation ตัวช่วยอัพราคาสู่พรีเมียม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น